ป่ากลางกรุง

29

การะบวนการเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ของผมออกจะพิสดารอยู่เล็กน้อยครับ คือผมเริ่มจากซื้อกล้ามาปลูกกันดื้อๆเลยในครั้งแรก โดยถามคำถามง่ายๆกับคนขายกล้าไม้ป่าว่า “จะปลูกป่าให้เป็นดง ควรปลูกอะไรดี” ตาลุงช้อนเจ้าของร้านแห่งย่านวังทองก็แนะนำต้นไม้มาสิบกว่ารายการ ตามประสาผู้อาวุโส ที่คิดแทนให้ว่า เลือกเอาต้นไม้ป่าที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงค่า อย่างที่เราๆรู้กันดีอยู่ในตอนนี้ แถมยังแนะนำตามประสา(หรือภาษา)วนศาสตร์ฉบับลูกทุ่งว่า ปลูกป่าเป็นดงเลียนแบบธรรมชาติ ไม้ป่าจะโตดี “ต้นไม้จะไม่ตดใส่กัน”

ผมแอบขำแล้วถามต่อไปว่ามันหมายความว่าอย่างไร เรื่องต้นไม้ตดใส่กัน ลุงแกก็อธิบายต่อว่า ปลูกไม้อย่างเดียวมันกินปุ๋ยใบตัวเองมันไม่อร่อย มันควรต้องกินใบต้นอื่นบ้าง จะได้โตใวๆ

อืม….. ชัดเจน และเข้าใจง่ายอย่างยิ่ง

ต่อมาผมตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า ไม้เนื้อดีหลากหลายชนิดนี้ เนื้อไม้มันดีและสวยยังไง ผมจึงเริ่มออกค้นหาคำตอบเรื่องลายไม้และเนื้อไม้ จนแทบจะเรียกว่า เห็นไม้มีลายเป็นไม่ได้ ต้องเข้าไปลูบคลำ ดอมดม ให้รู้กลิ่น รู้สัมผัส ก็ไหนๆวันนึงอาจจะได้ตัดไม้ตัวเองมาใช้ ขอรู้ล่วงหน้าหน่อยแล้วกัน

แล้วไม่อื่นๆอีกล่ะ เมื่อสายพันธุ์ไม้เมืองร้อนมีมากมายหลากหลาย คนโบราณเขาสามารถรู้ได้เลยว่าไม้เนื้อนี้เอามาทำอะไรดี อะไรไม่ดี คำถามนี้ นำพาผมมาสู่ อากู๋ กูเกิ้ล เพราะขี้เกียจไปเที่ยวหอพรรณไม้บ่อยๆ หาความรู้ตามประสาคนขี้เกียจไปพลางๆก่อน และในที่สุดผมก็มาเจอเว็บขุนดง ของอาจารย์นพพร

ก่อนหน้านั้นไม่นานผมเริ่มเก็บเมล็ดไม้ต่างๆมาลองเพาะบ้างตามประสามือใหม่หัดเพาะ เนื่องจากเป็นคนที่ล้มเหลวกับการไปขอพันธุ์ไม้ที่ศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้ตามจังหวัดต่างๆ ที่เราเห็นว่ามีต้นไม้ที่เรายังไม่มี การหาทางออกด้วยการเพาะเองก็ช่วยเพิ่มเติมรสชาติหวานๆให้น้ำ”แห้ว” อร่อยขึ้นมาได้หน่อยนึง พอมาเจอเว็บขุนดง คำถามหลายอย่างก็คลี่คลายลงได้หมดจด เบ็ดเสร็จ แถมกระบวนการตั้งตนเป็นศูนย์เพาะชำกล้าไม้น้อยๆก็ได้เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนั้น

เริ่มจากมองหาไม้ที่สนใจ รู้เนื้อ รู้ต้น รู้การเติบโตตามธรรมชาติ รู้ลักษณะกิ่งก้านใบดอกผล และรู้จักวิธีการเพาะ พอได้เมล็ดมา ก็เริ่มเพาะ รู้จักใบเลี้ยง รู้จังหวะการงอก การเติบโต รู้จักว่ากล้าสมบูรณ์เป็นอย่างไร ปลูกลงดินอย่างไร โตอย่างไร และต่อมา เวลาจะบอกถึงรายละเอียดระหว่างทาง ไปจนถึงการเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ และท้ายที่สุด เมื่อโค่นตัดผ่าดู ผมก็จะกลับมารัรู้ถึงลาย กลิ่น และผิวสัมผัสกันอีกครั้ง จะสำคัญก็ตรงที่ กระบวนการช่วงหลังเป็น “ความรู้มือหนึ่ง” ที่ผ่านประสบการจริงหรือที่ภาษาพระเขาเรียกว่า “ปัจจัตตัง” หรือ ความรู้เฉพาะตน ต้องลงมือปฏิบัติเอง จึงจะรู้ได้

จากมือสมัครเล่น เพาะเมล็ดไม้ฆ่าเวลา เพื่อลดอาการลงแดงขอคนชอบปลูก นำไปสู่สวนป่าขนาดจิ๋วข้างบ้านที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด กล้าไม้หลายต่อหลายรุ่น ถูกทยอยเอาไปลงดินตามวาระโอกาสต่างๆ เท่าที่จะหาเรื่องได้

ปลูกต้นไม้วันเกิด

ปลูกต้นไม้วันพ่อ วันแม่

ปลูกต้นไม้วันหยุดนักขัตฤกษ์

ปลูกต้นไม้วันพระใหญ่

ปลูกต้นไม้วันสุข

ปลูกต้นไม้วันเศร้า

และอีกหลายๆวัน ทีใจนึกอยากจะปลูก

ปลูกในที่ตัวเอง ปลูกในที่คนอื่น ฯลฯ

ขนาดเอาออกไปก็เยอะ ป่าไม้น้อยข้างบ้านก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยถอยจำนวนลง เพราะเมล็ดไม้ใหม่ๆที่เก็บได้ กับอีกส่วนที่ส่งมาจากขุนดง เตรียมรอคิวลงถุง ในอาณาบริเวณรอบบ้านที่เล็กกระจ้อยร่อย เรียกว่าในตอนนี้ จะเพาะชุดใหม่ได้ ต้องเอาชุดเก่าออกไปก่อน

เรื่องอันสุนทรีย์ทุกครั้งก่อนไปปลูกต้นไม้ก็คือ การเดินช็อปปิ้ง กล้าไม้ไปรอบๆบ้าน โดยใช้หลักการ ต้นไหนโตเร็วโตดี ได้ลงดินก่อน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไม้ป่าเนื้อดีเท่านั้น สมุนไพรอย่างว่านจืด ขมิ้นและฟ้าทลายโจรก็มีสิทธิ์นะคร้าบ

ตาลุงช้อนเริ่มขาดลูกค้าชั้นดีอย่างผมไปเสียแล้วในตอนนี้ แต่ผมก็ยังแวะเวียนไปเยี่ยมและช่วยอุดหนุนแกอยู่บ่อยๆ และบางครั้งก็พาเหยื่อไปให้เชือดนิ่มๆ

ป่าไม้กลางกรุงเริ่มมีระบบสำรองกล้าไม้ดีขึ้นๆ มีทุกรุ่นอายุพร้อมปลูกไปอีกหลายปี

สวมควรแก่เวลาที่ต้องออกเดินทางไปคารวะเจ้าสำนักขุนดงบ้างแล้ว ยังมีเคล็ดลับอีกมากมายซ่อนอยู่ที่นั่น

รุ่นโตแล้ว กับรุ่นกำลังแทงรากครับ

เมล็ดมะค่าโมงที่ผ่านการเจียเปลือกและแช่น้ำมาสองวันจนพองได้ที่ และเริ่มแทงราก

เมล็ดกระพี้เขาควาย ไม้เนื้อสวยอีกตัวที่ทดลองเพาะในกระดาษทิชชู่ ก็งอกได้เหมือนกัน

~ โดย tumtump บน วันอาทิตย์, ตุลาคม 3, 2010.

มีการตอบกลับหนึ่งครั้ง to “ป่ากลางกรุง”

  1. อยากได้กระพี้เขาควาย ขายหรือเปล่าครับ

ใส่ความเห็น